วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ประเพณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

       


   งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลฯ ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา จัดให้มีขึ้นทุกปี


 VDO นี้สามารถรับชมได้ทุกเพศทุกวัย  





          จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ความว่า ชาวอุบลราชธานี ได้ทำต้นเทียนประกวดประชันความวิจิตรบรรจงกัน ตั้งแต่ พ.ศ.2470 จนเมื่อปี พ.ศ.2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่องานแต่ละปี ดังนี้


          ปี พ.ศ. 2542 มีชื่องานว่า "งานแห่เทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา" เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่มาของ "เทียนเฉลิมพระเกียรติฯ" ที่ทุ่งศรีเมือง


          ปี พ.ศ. 2543 มีชื่องานว่า "หลอมบุญบูชา ถวายไท้นวมินทร์" มีความหมายว่า การหล่อเทียนพรรษาของชาวอุบลฯ เพื่อบำเพ็ญกุศลร่วมกัน การหล่อหลอมจิตศรัทธาให้เป็นหนึ่งเดียว เปรียบประดุจการหลอมบุญบูชา เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์
          ปี พ.ศ. 2544 มีชื่องานว่า "งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ" เนื่องจากเทียนพรรษาได้วิวัฒนาการไปจาก "ภูมิปัญญาดั้งเดิม" จนแทบจะจำเค้าโครงแต่โบราณไม่ได้ จึงได้มีการหันกลับมาทบทวนการจัดงานแห่เทียนพรรษา ตามภูมิปัญญาของชาวอุบลฯ ตั้งแต่เดิมมา
          ปี พ.ศ. 2545 มีชื่องานว่า "โรจน์เรือง เมืองศิลป์" ด้วยเหตุที่ ททท.ได้เลือกงานแห่เทียนพรรษจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานที่โดดเด่นที่สุดของประเทศในเดือนกรกฎาคม ตามโครงการ "เที่ยวทั่วไทย ไปได้ทุกเดือน" จึงจัดให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดเดือน อาทิ ได้เชิญช่างศิลป์นานาชาติประมาณ 15 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น มาร่วมแข่งขันการแกะสลักขี้ผึ้งตามสไตล์งานศิลปะแต่ละชาติ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มาชมงานตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2545 ชื่องาน "โรจน์เรือง เมืองศิลป์" เป็นคำย่อมาจากคำเต็มที่ว่า "อุบลฯ เมืองนักปราชญ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี"
          ปี พ.ศ. 2546 มีชื่องานว่า "สืบศาสตร์ สานศิลป์" เนื่องจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นการ "สืบทอดศาสนาและสืบสานงานศิลปะ" ดังคำกล่าวที่ว่า "เทียนพรรษา คือ ภูมิศิลปะแห่งศรัทธา" เพื่อความกระชับ จึงใช้ ชื่อว่า "สืบศาสน์ สานศิลป์" แต่โดยเหตุที่มีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คำว่า "ศาสตร์" มีความหมายกว้างกว่า ชื่องานจึงเป็น "สืบศาสตร์ สานศิลป์" ด้วยเหตุนี้


          ปี พ.ศ. 2547 มีชื่องานว่า "ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี" เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ พระแม่-แม่พระ ของแผ่นดิน


          ปี พ.ศ. 2548 มีชื่องานว่า "น้อมรำลึก 50 ปี พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ" เนื่องจากเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2498 ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จเยือนอุบลราชธานี ยังความปลาบปลื้มปิติแก่ชาวอุบลฯ เป็นล้นพ้น เพราะตั้งแต่สร้างบ้านเมืองมาเกือบ 200 ปี ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยม หรือทรงใกล้ชิดกับราษฎรอย่างไม่ถือพระองค์เช่นนี้ ชาวอุบลฯ ทุกหมู่เหล่า ต่างพร้อมน้อมรำลึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเหล้าล้นกระหม่อม พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ ปิติล้นพ้น ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมาและตลอดไป


          ปี พ.ศ. 2549 มีชื่องานว่า "60 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล งามตระการเทียนพรรษา เทิดราชัน" เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


          ปี พ.ศ. 2550 มีชื่องานว่า "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำ เทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง"  เนื่องจากเป็นปีมหามงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย และการน้อมนำแนวพระราชดำรัสมาใช้ดำรงชีวิต


          ปี พ.ศ. 2551 มีชื่องานว่า "เมืองอุบลบุญล้นล้ำ บุญธรรม บุญทาน สืบสานตำนานเทียน"   เนื่องจากอุบลราชธานี มีสมญานามว่า "เมืองแห่งดอกบัวงาม" ซึ่งดอกบัว เป็นพฤกษชาติที่มีคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง อุบลราชธานีจึงมีวัฒนธรรมประเพณี ทำบุญทุกๆ เดือน คือการยึดถือ ฮีตสิบสองคองสิบสี่ (ฮีตสิบสอง คือจารีตที่ปฏิบัติแต่ละเดือน ตลอดปี จนเป็นประเพณีสืบต่อมา) ประเพณีแต่ละอย่างในฮีตสิบสอง ล้วนมีแต่ชื่อ ขึ้นต้นว่าบุญ หมายถึง ประเพณีที่มุ่งการทำบุญเป็นสำคัญ อุบลราชธานีจึงมี บุญล้นล้ำ ทั้งบุญธรรม บุญทาน อีกทั้ง งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีมาแต่โบราณ โดยเริ่มจากในสมัยแรกๆ เป็นเทียนเวียนหัว มัดรวมติดลาย วิวัฒนาการมาจนเป็น หลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2551


          ปี พ.ศ. 2552 มีชื่องานว่า "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม บุญล้ำเทียนพรรษา ประชาพอเพียง"   เนื่องจากอุบลราชธานีเป็น "อู่อารยวัฒนธรรม อุดมอรียทรัพย์ อริยสงฆ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี" ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม จึงเป็นความรุ่งเรือง สว่างไสว อุดมสมบูรณ์ ในธรรมที่สำคัญยิ่ง 3 ประการ คือ พุทธธรรม อารยธรรม และธรรมชาติ ประกอบกับ การทำบุญเข้าพรรษาที่อุบลราชธานี มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี จึงเป็นที่รวมทำบุญเข้าพรรษาของประชาชนทัวประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก ท่านที่มาทำบุญเดือนแปดที่เมืองอุบลฯ จึงเป็นการบำเพ็ญกุศล ได้รับ "บุญล้ำเทียนพรรษา" โดยทั่วหน้ากัน พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอเน้นคำขวัญ ประชาพอเพียง ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ประชาชนพลเมือง จะมีความ พอเพียง ได้ ก็ด้วยคุณธรรมความพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพิเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ไม่มีความฟุ้งเฟ้อ ทะเยอทะยาน ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี งเป็นที่มาของชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2552


          ปี พ.ศ. 2553 มีชื่องานว่า "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบล"   เนื่องจากเมืองอุบลราชธานี มี “ธรรม” 3 ประการ คือพุทธธรรม ชาวอุบลฯ มีความฝักใฝ่ในธรรม อารยธรรม คืออุดมด้วยอารยทรัพย์ อารยสงฆ์ และธรรมชาติ ตามถิ่นที่ตั้งเมืองอุบล คือ ดงอู่ผึ้ง จึงเป็นความรุ่งเรือง หรือ "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม" และที่ตั้งเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี คือ ดงอู่ผึ้ง ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการทำเทียนพรรษา รวงผึ้งอุดมสมบูรณ์มาก สำนักพระราชวัง ได้นำขี้ผึ้งจากจังหวัดอุบลฯ ไปเพื่อทำเทียนพระราชทาน ประกอบกับ อุบลราชธานีมีสกุลช่างทุกสาขาวิชาช่างศิลปะ จึงสามารถรังสรรค์เทียนพรรษา ออกมาได้อย่างวิจิตรบรรจงตามจินตนาการ งามล้ำเทียนพรรษา และเนื่องจากประเพณีแห่เทียนพรรษาเกิดจาก ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ  เป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” สืบสานเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ก่อให้เกิด “ภูมิพลังเมือง” สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาคมเป็นปึกแผ่นมั่นคง แก้ไขปัญหาสำคัญของชาติได้ในการร่วมเป็น “ภูมิพลังแผ่นดิน”


          ปี พ.ศ. 2554 มีชื่องานว่า "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบล"   ใช้ชื่องานต่อเนื่องจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี 2553 กำหนดจะจัดงานระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2554 ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง โดยปีนี้จะมีความพิเศษกว่าทุกปี คือ มีการจัดทำต้นเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ เป็นการนำเทียนประเภทแกะสลักและติดพิมพ์ มารวบรวมในต้นเทียนเดียวกัน โดยฝีมือช่างเทียนระดับอาจารย์ 9 ท่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น การเฉลิมฉลองในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น