ความเชื่อในประเพณีของภาคใต้


ประเพณีชักพระ

 ลากพระหรือชักพระ หรือแห่งพระ เป็นประเพณีของชาวภาคใต้ ที่ปฏิบัติมา ตั้งแต่โบณาณ ประเพณีลากพระ เล่ากันมาเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจาก พระพุทธองค์ทรงพระทำปาฏิหาริย์ปราเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง (ที่จริงเป็นใต้ต้นมะม่วง ชื่อ คัณฑามพ์ แปลว่า ต้นมะม่วงที่นายคัณฑะปลูก) กรุงสาวัตถีก็เป็นฤดูพรรษาพอดี พระองค์เสด็จจากมนุษยโลก ไปจำพรรษา  ณ ดาวดึงส์ ด้วยพระประสงค์จะแสดงธรรม โปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นอุบัติ (เกิด) เป็นเทพบุตรสถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพ (เหตุที่ทรงใช้ดาวดึงส์ เนื่องจากพระองค์มีพระประสงค์ จะโปรดเทพชั้นต่ำกว่าด้วย เพราะหากไปโปรดพุทธมารดาที่ดุสิต เทพชั้นต่ำกว่าจะขึ้นไปไม่ได้ แต่เทพชั้นสูงกว่า ลงมาชั้นต่ำกว่าได้ เปรียบเหมือนคนธรรมดาจะเข้าวังไม่ได้ แต่พระราชเสด็จออกมา ฟังธรรมกับคนธรรมดาได้) พระองค์โปรดพุทธมารดาจนสิ้นสมัยพรรษา (ออกพรรษา) แล้วเสด็จกลับมนุษยโลก ณ เมืองสังกัสสะนคร ในวันขึ้น 15 เดือน 11


ประเพณีลากพระบก

     การที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ดังกล่าว ทำให้ชาวเมือง มีความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการแสดงถึงความปีติยินดี ชาวเมือง จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับ ของพระพุทธองค์  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงถือกันมา เป็นประเพณีลากพระ หรือชักพระ หรือแห่พระสืบมา ครั้นเลยพุทธกาล และเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชน จึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่งแหนสมมติแทนพระพุทธองค์

  มีผู้สันนิษฐานว่า ประเพณีลากพระ เกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิ หรือศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ  โดยชาวพุทธ ได้นำเอาประเพณีของศาสนาพราหมณ์ มาดัดแปลงให้ต้องกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ประเพณีนี้ จึงมีมาช้านานแล้วในประเทศอินเดีย ต่อมาได้ถ่ายทอดมายังประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ ได้รับเอาประเพณีนี้เข้ามาถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง
ประเพณีลากพระน้ำ

     การที่เกิดประเพณีลากพระขึ้นในภาคใต้ และกลายเป็นประเพณีสำคัญสืบมานั้น ซึ่งจะเนื่องด้วยพุทธตำนานและลัทธิศาสนาพราหมณ์ แล้วยังสันนิษฐานว่า น่าจะมี คตินิยมดั้งเดิมอย่างอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย กล่าวคือ ในเดือน 11 นั้น เป็นที่ภาคใต้ กำลังเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพการเกษตร สิ่งปรารถนาที่พ้องกัน จึงได้แก่การขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  งานลากพระจึงมุ่งขอฝน เพื่อการเกษตร จนเกิดเป็นคติความเชื่อว่า การลากพระทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
     ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้มีอยู่  2  ประการ  คือ  ลากพระทางบก กับ ลากพระทางน้ำ
  1. ลากพระทางบก คือการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนนมพระ หรือบุษบก แล้วแห่แหน โดยการลากไปบนบก วัดส่วนใหญ่ ที่ดำเนินการประเพณีลากพระวิธีนี้ มักตั้งอยู่ในที่ไกลแม่น้ำลำคลอง
  2. ลากพระทางน้ำ  เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนบุษบก ในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ ประเพณีลากพระ ที่มัก กระทำด้วยวิธีนี้ เป็นของวัดที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง
     ก่อนถึงวันลากพระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมี "การคุมพระ" ที่วัด การคุมพระ คือการตีตะโพนประโคมก่อนจะถึงวันลากพระประมาณ 10 - 15 วัน เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้าน ทราบว่า จะมีการลากพระ เพื่อปลุกใจชาวบ้าน ให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และเพื่อชาวบ้านจะได้มาช่วยกันเตรียมการต่าง ๆ  ล่วงหน้า ผู้คุมพระได้แ่ก่เด็กวัด และประชาชนที่อยู่ใกล้วัด  การคุมพระ จะมีทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกันไปจนถึงวันลากพระ ในช่วงที่มีการคุมพระ พระสงฆ์สามเณร และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือพระ ซึ่งถ้าเป็นเรือพระบก จะหมายรวมถึง "นมพระ" หรือบุษบก ร้านไม้ และ "หัวเฆ่" หรือไม้ขนาดใหญ่ สองท่อน  ในปัจจุบันมักใช้ล้อเลื่อน หรือรถ แทน "หัวเฆ่" ถ้าเป็นเรือพระน้ำ จะหมายถึง "นมพระ" ร้านไม้ และลำเรือ ซึ่งอาจจะใช้ลำเดียวหรือนำมาผูกติดกัน 3 ลำ การเตรียมเรือพระ จะต้องทำให้เสร็จทันวันลากพระ
การตกแต่งเรือพระและนมพระ (บุษบก) แต่ละวัด ต่างก็พยายามตกแต่งกัน อย่างวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ นมพระนับเป็นสวนสำคัญที่สุดของเรือพระ หลังคานมพระ นิยมทำเป็นูปจตุรมุข หรือจตุรมุขซ้อน ตกแต่งด้วยหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจัง ฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เสานมพระ ใช้กระดาษสี แกะลวดลายปิด หรือแกะสลักไม้อย่างประณีตงดงาม ยอดนมพระจะเรียกชะลูด ปลายสุด มักใช้ลูกแก้วฝัง เมื่อต้องแสงแดด จะทอแสงระยับ
     การสร้างนมพระ หรือบุษบกสำหรับลากพระบก ส่วนใหญ่นิยมสร้างบนร้านไม้ ซึ่งประกอบติดแน่นอยู่บนไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อน ที่รองรับช่วงล่าง ไม้สองท่อนนี้ สมมติเป็นพญานาคทางด้านหัว และท้ายทำงอนคล้ายหัวเรือ และท้ายเรือ บางทีทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาคหรือสัตว์อื่น ๆ  ถ้าทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาคที่ลำตัวนาคมักประดับด้วยกระจกต่าง ๆ  ร้านไม้กลางลำตัวนาค ซึ่งใช้สำหรับวางบุษบก มักจะสร้างสูงราว 1.50 เมตร นมพระหรือบุษบก บนร้านไม้ ที่สร้างอย่างประณีต ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ที่เรียกว่า พระลากรอบ ๆ  นมพระจะประดับประดาด้วยธงผ้าแพรสี นอกจากนี้ ยังมีธงราว ธงยืนห้อยระโยง ระยาง  และมีเครื่องประดับแต่งอื่น ๆ  เช่น อุบะดอกไม้แห้ง ระย้าย้อย ต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าว เป็นต้น
ด้านหน้านมพระ นอกจากจะตั้งบาตรสำหรับต้มจากผู้ทำบุญแล้ว มักจะตั้งธรรมาสน์หรือเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ผู้ควบคุมดูแลการลากพระได้นั่ง ส่วนด้านหลังของนมพระมีโพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งใช้สำหรับ ประโคม ที่ด้านหน้าของหัวเฆ่  หรือนาคทั้งสอง มีนาคขนาดใหญ่พอกำรอบ ยาวประมาณ 30  เมตร ผูกอยู่ข้างละเส้น เชือกนี้สำหรับให้ชาวบ้านลากพระ  ถ้าหาก การลากพระนั้น เป็นการลากบนถนนหรือพื้นที่เรียบนิยมทำล้อ 4 ล้อ ที่ใช้ตัวนาค ทั้งสองข้างด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องออกแรงในการลากพระมากนัก แต่ถ้าผ่านที่ไม่เรียบ หรือผ่านทุ่งนา ก็ไม่นิยมใส่ล้อ แต่จะคงตามแบบเดิมไว้ สำหรับในปัจจุบัน นิยมทำเรือพระบกบนรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวกต่อการชักลาก
     การสร้างเรือพระเพื่อใช้ลากพระทางน้ำ การเตรียมการไม่แตกต่างจากเรือพระ ที่ใช้ลากพระทางบก  อาจใช้เรือลำเดียว  ตั้งนมพระกลางลำเรือแล้ว ใช้ฝีพายเรือพระ หรือใช้เรือขนาดใหญ่ 3 ลำ มาเรียงกันผูกให้เรือติดกันอย่างมั่นคง แล้วใช้ไม้กระดานวางเรียงให้เต็มลำเรือทั้งสามลำ เพื่อเป็นพื้นราบสำหรับวางร้านไม้ และบุษบกตรงกลางลำตกแต่งเรือพระและนมพระด้วยแพรพรรณ กระดาษสีธงทิว และต้นไม้ มีที่นั่งสำหรับพระภิกษุผู้ควบคุม และมีเครื่องดนตรีสำหรับประโคม เช่นเดียวกับในเรือพระบก ส่วนที่หัวเรือพระมีเชือกนาคเท่ากับของเรือพระบกผูกไว้ สำหรับให้เรือชาวบ้านมาช่วยกันลาก พระพุทธรูปที่นิยมใช้ในพิธีลากพระ นิยมใช้ปางอุ้มบาตร แต่มีหลายท้องถิ่นนิยมใช้ปางคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นปางขอฝน ที่ใช้ในพิธีพิรุณศาสตร์ของภาคกลาง  แต่บางวัดใช้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และปางอื่น ๆ  นอกจากนี้ อาจจะใช้ 1 องค์ 2 องค์ หรือ 3 องค์ ก็ได้